“บุ้งทะลุวัง” คุ้มหรือไม่ในการเสียชีวิตต่อสู้ทางการเมือง

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง” นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง ซึ่งอยู่ระหว่างถูกคุมขัง เสียชีวิตแล้ว หลังจากบุคคลใกล้ชิดแจ้งข่าวว่า มีอาการหัวใจหยุดเต้นและแพทย์ได้ปั๊มหัวใจ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยืนยันกับบีบีซีไทยเมื่อเวลาประมาณ 12.40 น. ว่า น.ส.เนติพร เสียชีวิตแล้ว โดยขณะนี้ร่างอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

บุ้ง เนติพร อยู่ระหว่างถูกคุมขังหลังจากศาลอาญามีคำสั่งถอนประกันในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลเรื่องขบวนเสด็จ โดยเธอถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2567 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 110 วัน

นักกิจกรรมหญิงวัย 28 ปี รายนี้ เริ่มอดอาหารและน้ำประท้วงระหว่างที่ถูกคุมขังในวันที่สอง (27 ม.ค. 2567) ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ข้อเรียกร้องของเธอ ได้แก่ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก หลังจากอดอาหารไปได้ระยะหนึ่ง น.ส.เนติพร ได้ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567

ก่อนหน้านี้ น.ส.เนติพร ได้ลงนามเอกสารแสดงเจตจำนงขอบริจาคร่างกาย และขอแสดงความประสงค์ไม่รับบริการสาธารณสุขเพื่อยื้อชีวิตไว้โดยไม่จำเป็นและเป็นการสูญเปล่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567

บุ้ง ทะลุวัง” นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 26 ปี เรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า และเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความสามารถทางภาษาดีเยี่ยม บุ้งจึงทำงานเป็นครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษ และสามารถสร้างรายได้อย่างงดงาม

ชื่อของ “บุ้ง ทะลุวัง” กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจาก “หยก” ลงไปนอนขวางรถล้อรถบัสที่จะนำนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ไปเข้าค่ายเรียนภาษาจีน ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนักถึงพฤติกรรมของหยก และเลยไปจนถึงเรื่อง “การดูแล” ของบุ้ง ซึ่งถือเป็นผู้ปกครองของหยก นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยังได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาเพื่อดำเนินคดีกับบุ้งในคดีหมิ่นประมาทอีกด้วย

และเมื่อย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่นาน ชื่อของบุ้งกลายเป็นดราม่าร้อนแรงในโซเชียลมีเดียอยู่หลายวัน หลังจาก 2 อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวังออกมา “แฉ” พฤติกรรมของบุ้ง แน่นอนว่าเป็นเหมือนการเพิ่มไฟในกับกระแสดราม่าที่กำลังโหมกระหน่ำ จนทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า “บุ้ง ทะลุวัง” คือใคร อะไรเป็นแรงผลักดันให้หญิงสาวคนนี้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้นขนาดนี้

การเสียชีวิต บุ้ง ทะลุวัง

จากการที่ บุ้ง ทะลุวัง อดอาหารตามเจตจำนงนานนับเดือน สุดท้าย บุ้ง มีอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน โดยทางทีมแพทย์ได้ทำการกู้ชีพ จากนั้นส่งตัวออกรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทีมแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้พยายามกู้ชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ แต่ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกแถลงการณ์ชี้แจงการเข้ารับการรักษาของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง เบื้องต้นทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งตัว น.ส.เนติพร มาถึง รพ.ธรรมศาสตร์ ในเวลา 09.30 น. ด้วยอาการหมดสติ ไม่มีสัญญาณชีพ ซึ่งได้รับการทำ CPR เพื่อฟื้นคืนชีพจากทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ตั้งแต่เวลา 06.23 น. ต่อเนื่องมาจนถึงการส่งตัว

แถลงการณ์ระบุว่า เมื่อผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึงได้ส่งเข้ารับการรักษา ณ ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน ชั้น 1 อาคารกิตติวัฒนา เบื้องต้นแพทย์ประเมินพบว่าผู้ป่วยไม่มีสัญญาณชีพ ระบบประสาทไม่มีการตอบสนอง ไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จึงทำการ CPR อย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือชีวิตอย่างเต็มที่

หลังจากการทำ CPR ฟื้นคืนชีพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 09.30-11.22 น. ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาและถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.22 น. ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตรอการชันสูตรตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

ด้านกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณีการเสียชีวิตของ บุ้ง ทะลุวัง ระบุว่า หลังจากที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้รับตัวนางสาวเนติพรจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 นางสาวเนติพรได้รับประทานอาหารและน้ำปกติ ซึ่งแพทย์และพยาบาลได้ทำการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

แต่ยังมีอาการขาอ่อนแรงและบวมเล็กน้อย ผลเลือดมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย เกลือแร่ต่ำ โดยนางสาวเนติพรปฏิเสธการรับประทานเกลือแร่และวิตามินบำรุงเลือด จนเกิดอาการดังกล่าวและเสียชีวิตในวันนี้

กรมราชทัณฑ์ขอเรียนว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีข้อห่วงใยในเรื่องนี้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม จึงเห็นควรให้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ทำการชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง ซึ่งจะต้องรอผลการชันสูตร นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว

การถูกดำเนินคดี

จากการออกมาเรียกร้องด้านประชาธิปไตยถูกดำเนินคดีรวมถึง 7 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ถึง 2 คดี โดยคดีทั้งสองยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น

  1. คดีเหตุพ่น-สาดสี “วัคซีน” และแขวนเชือกดึงรูปปั้นของพระบรมราชชนก ในกระทรวงสาธารณสุข โดยกลุ่มเด็กปากแจ๋ว (เยาวชน) ร่วมกับเยาวชนอีก 3 คน เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 , ข้อหา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ประมวลกฎหมายอาญา ม. 358 ทำให้เสียทรัพย์, คดีอยู่ในชั้นพิจารณาคดี ศาลจังหวัดนนทบุรี /อัยการสั่งฟ้องคดีวันที่ 25 เม.ย. 2565
  2. คดีจากเหตุกิจกรรมทำโพลล์ “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ที่บริเวณลานหน้าห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 , ข้อหา มาตรา 112 และมาตรา 116, คดีอยู่ในชั้นพิจารณาคดี, ศาลอาญากรุงเทพใต้, อัยการสั่งฟ้องคดีวันที่ 30 พ.ค. 2565 / สืบพยานวันที่ 20, 27 พ.ค. 2567
  3. คดีทำโพลสำรวจ “เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย” บริเวณ MRTจตุจักร, BTSห้าแยกลาดพร้าว-สนามเป้า และหน้ากองพลทหารม้าที่ 2 เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565
    (พ.ต.ท.นาถนริศ รัตนบุรี เป็นผู้กล่าวหา), ข้อหา มาตรา 112 , คดีอยู่ในชั้นพิจารณาคดี ศาลอาญา // อัยการสั่งฟ้องคดี 23 มิ.ย. 2565 / สืบพยาน 7 มิ.ย., 12 ก.ค., 1-2 ส.ค. และ 2-3 ต.ค. 2567
  4. คดีเดินประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมช่วงประชุม APEC 2022 จากบีทีเอสสยาม เข้าไปในห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 ป.อาญา มาตรา 362 และ 365 (1) (2) บุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมการทำผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป / คดีอยู่ในชั้นสอบสวน สน.ปทุมวัน
  5. คดีทำกิจกรรม #กระชากกวีซีไรต์ เรียกร้องให้ถอดถอนเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จาก สว.หน้ากระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 ข้อหา ร่วมกันบุกรุกอาคารหรือสำนวนงานในความครอบครองของผู้อื่น, จุดและปล่อยพลุควันโดยไม่ได้รับอนุญาต / คดีอยู่ในชั้นสอบสวน สน.ห้วยขวาง
  6. คดีถูกกล่าวหาว่าบุกรุกเข้าไปโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กับพวกรวม 4 คน เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2566 ข้อหาร่วมกันบุกรุกตั้งแต่สองคนขึ้นไป อันเป็นการรบกวนครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น // คดีอยู่ในชั้นสอบสวน สน.ประเวศ
  7. คดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในระหว่างการรอประกันตัว “โฟล์ค สหรัฐ” ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 / คดีมีโทษตัดสินจำคุก 1 เดือน สิ้นสุดแล้ว